โรคฟันของสัตว์เลี้ยง

โรคฟันของสัตว์เลี้ยง

โรคฟันคืออะไร
ปัญหาภายในช่องปากและฟันของสัตว์เลี้ยงจึงเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย จากการศึกษาพบว่า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุประมาณ 2 ปี จะพบอาการโรคในช่องปากได้ 70% สำหรับแมวและ 80% ของสุนัข โดยเริ่มต้นจากการสะสมของพล๊าค (Plaque) ซึ่งมีลักษณะเป็นฟิล์มเหนียวๆบนฟัน หากไม่ขจัดคราบดังกล่าว พล๊าคเหล่านี้จะสะสมตัวแข็งขึ้นจนเกิดเป็นหินปูน (Tartar) และก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการเจ็บปวดและนำไปสู่โรคปริทนต์ (Periodontal Disease) โดยอาจทำให้สัตว์เลี้ยงสูญเสียฟันและเกิดการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญต่างๆของร่างกาย

จะทราบได้อย่างไรสัตว์เลี้ยงเป็นโรคฟัน

หากสัตว์เลี้ยงมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟัน สิ่งที่ท่านสามารถสังเกตได้คือ กลิ่นปากและรวมถึงอาการต่างๆ เหล่านี้

อาการที่พบบ่อย
•    มีกลิ่นปาก
•    แสดงอาการเจ็บปวดบริเวณปาก
•    กินอาหารลำบาก
•    สูญเสียฟันหรือฟันหัก
•    ตะกุยหรือเกาบริเวณปาก
•    เลือดออกบริเวณเหงือก
•    มีการสะสมของหินปูนสีเหลือง
•    น้ำลายหยดบ่อยๆ

การดูแลสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคฟัน
การดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันของสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอนั้นง่ายกว่าที่ท่านคิด เริ่มต้นจากการปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อให้ทำการตรวจสุขภาพและดูแลทำความสะอาดช่องปากและฟันของสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี จากนั้นควรเปลี่ยนอาหารจากอาหารปกติเป็นอาหารเม็ดที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อช่วยขจัดคราบฟันและหินปูนอย่างได้ผล ขณะเคี้ยวอาหาร และควรแปรงฟันให้สัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ก่อนให้เกิดโรคฟันในสัตว์เลี้ยง ได้แก่
•    อายุ
โรคฟันมักเกิดได้บ่อยในสัตว์ที่มีอายุมาก
•    สายพันธุ์
สำหรับสุนัขสายพันธุ์เล็กที่มีฟันซ้อนเกิน หรือมีฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ มักจะเกิดโรคฟันได้ง่าย เนื่องจากทำความสะอาดฟันได้ยาก
•    อาหาร
การให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารที่เหนียว อาหารเปียก หรืออาหารปรุงเอง จะทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดคราบฟันและหินปูนได้ง่าย

ข้อแนะนำสำหรับเจ้าของสัตว์
•    หากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีความผิดปกติภายในช่องปากและฟัน กรุณาปรึกษาสัตวแพทย์โดยตรง
•    หากสัตว์เลี้ยงไม่เคยกินอาหารเม็ดมาก่อน ควรค่อยๆเปลี่ยน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงทำความคุ้นเคยอย่างช้าๆ
•    ควรทำความสะอาดภาชนะ และเตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพออยู่เสมอ
•    หากสามารถทำได้ ควรหมั่นแปรงฟันให้กับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
•    หากอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น  ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ และไปรับการตรวจรักษาสุขภาพในช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ

 

อ่านบทความสัตว์เลี้ยง สุนัข หมา แมวเพิ่มเติมได้ที่นี้